ภาษามลยาฬัม

ภาษามลยาฬัม
ภาษามลยาฬัม [มะ-ละ-ยา-ลำ] เป็นภาษาราชการของรัฐเกราลาทางภาคใต้ของอินเดีย มีผู้พูดประมาณ 36 ล้านคน และมีผู้พูดในเกาะลักษทวีปด้วย จัดอยู่ในตระกูลภาษาดราวิเดียน ใกล้เคียงกับภาษาทมิฬ เขียนด้วยอักษรมลยาฬัม

ภาษามลยาฬัมจัดอยู่ในกลุ่มดราวิเดียนใต้ คาดว่ามีกำเนิดร่วมกับภาษาทมิฬเมื่อราว พ.ศ. 1400 ก่อนจะแยกออกเป็นอีกภาษาหนึ่ง พัฒนาการของภาษาในช่วงแรกได้รับอิทธิพลจากภาษาทมิฬมาก การติดต่อค้าขายกับชาวอาหรับและเคยอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส ทำให้ได้รับอิทธิพลของภาษากลุ่มโรมานซ์ เซมิติกและอินโด-อารยันเข้ามา ซึ่งอิทธิพลจากภาษาภายนอกเหล่านี้จะต่างกันไปในหมู่ผู้พูดที่นับถือศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามและศาสนาฮินดู

คำว่ามลยาฬัมเกิดจากคำในภาษาทมิฬสองคำคือมาไล แปลว่าภูเขา และอาฬัมแปลว่าบริเวณ ซึ่งหมายถึงบริเวณภูเขา จุดกำเนิดของภาษามลยาฬัมไม่ว่าจะในฐานะสำเนียงของภาษาทมิฬหรือแตกออกมาจากภาษาดราวิเดียนดั้งเดิมโดยอิสระ ได้มีการโต้แย้งกันในหมู่นักภาษาศาสตร์ Robert Caldwell กล่าวว่า ภาษามลยาฬัมแยกออกมาจากภาษาทมิฬคลาสสิก หลังจากที่ยืมคำจำนวนมากจากภาษาสันสกฤต และสูญเสียการลงท้ายเกี่ยวกับบุคคลของกริยา อย่างไรก็ตาม ในพุทธศตวรรษที่ 18 ได้พบการเขียนภาษามลยาฬัมซึ่งมีความแตกต่างจากภาษาทมิฬ บทกวีที่ชื่อรมชริตัมมีอายุย้อนหลังไปถึงพุทธศตวรรษที่ 17 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนจะได้รับอิทธิพลจากภาษาสันสฤต รูปแบบการเขียนที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาสันสกฤตมาก พบในพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งใช้คำศัพท์ที่มาจากคัมภีร์ปุราณะ

ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 – 22 ถุนชัถถุ รมนุชัน เอซุถาชัน เขียนเอกสารฉบับแรกที่ใช้อักษรครันถะ-มลยาฬัม ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของภาษามลยาฬัม และใช้ในการแปลรามายณะและมหาภารตะมาเป็นภาษามลยาฬัม

ภาษามลยาฬัมอยู่ในกลุ่มภาษาดราวิเดียนใต้เช่นเดียวกับภาษาทมิฬ ภาษาโกทวะ และภาษาตุฬุ ส่วนใหญ่เชื่อว่าภาษาทมิฬดั้งเดิมได้แยกออกมาเป็นภาษาทมิฬและภาษามลยาฬัม ต่อมา ใชนช่วงที่รัฐเกรละมีความโดดเด่นทางสังคมและการเมือง มีการติดต่อค้าขายกับชาวอาหรับ รวมทั้งการรุกรานของโปรตุเกส ทำให้ภาษามลยาฬัมได้รับอิทธิพลจากกล่มภาษาโรมานซ์ กลุ่มภาษาเซมิติก และกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน และทำให้ภาษาที่ใช้ในหมู่ผู้นับถือศาสนาเชน คริสต์ อิสลามและยูดายมีความแตกต่างกัน

ที.เค. กฤษณะ เมนน ได้แบ่งยุคของภาษามลยาฬัมออกเป็น 4 ยุคคือ

* 1) การินทมิฬ เมื่อราว 2,457 ปีก่อนพุทธศักราชจนถึง พ.ศ. 443 ส่วนใหญ่เหมือนกับภาษาทมิฬ ยังไม่รับอิทธิพลจากภาษาสันสกฤต

* 2) ภาษามลยาฬัมโบราณ เมื่อประมาณ 443 – 868 ภาษามลยาฬัมได้รับอิทธิพลจากภาษาสันสกฤต และยืมคำจากภาษาสันสกฤตมาเป็นจำนวนมาก มีการลงท้ายกริยาด้วยบุคคลซึ่งขึ้นกับเพศและจำนวน เขียนด้วยอักษรทมิฬ-พราหมี

* 3) ภาษามลยาฬัมยุคกลาง พ.ศ. 868 – 1968 เป็นยุคที่ศาสนาเชนมีอิทธิพลต่อภาษามาก

* 4) ภาษามลยาฬัมสมัยใหม่ ตั้งแต่พ.ศ. 1968 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่ภาษามลยาฬัมเป็นเอกเทศจากภาษาทมิฬและภาษาสันสกฤต ซึ่งแบ่งย่อยเป็นช่วงก่อนและหลังการเข้ายึดครองของอังกฤษ
ประเทศ