ภาษากันนาดา

ภาษากันนาดา
ภาษากันนาดา หรือ ภาษากันนะฑะ (ಕನ್ನಡ) เป็นภาษากลุ่มดราวิเดียนที่สำคัญภาษาหนึ่ง ใช้พูดทางภาคใต้ของอินเดีย เป็นภาษาราชการของรัฐกรณาฏกะ เขียนด้วยอักษรกันนาดา เช่นเดียวกับภาษาท้องถิ่นอื่น ๆ ในรัฐกรณาฏกะ ได้แก่ ภาษาตูลู ภาษาโกทวะ และภาษากอนกานีที่เขียนด้วยอักษรกันนาดาเช่นกัน ภาษากันนาดาได้รับอิทธิพลด้านคำศัพท์จากภาษาสันสกฤตเช่นเดียวกับภาษากลุ่มดราวิเดียนอื่น ๆ วรรณคดีรุ่นแรก ๆ ที่เขียนด้วยภาษานี้คือ กาวิราชมาร์กา ของกษัตริย์นริปาตุงา

ภาษากันนาดาเป็นภาษากลุ่มดราวิเดียนที่เก่าที่สุด มีประวัติย้อนหลังไปได้ถึง 2,000 ปี ภาษาในรูปแบบภาษาพูดได้แยกอออกจากภาษาดราวิเดียนดั้งเดิมก่อนภาษาทมิฬและเป็นเวลาใกล้เคียงกับภาษาตูลู จากหลักฐานทางโบราณคดี การเขียนทางการค้าของภาษานี้เริ่มเมื่อราว 1500-1600 ปีมาแล้ว การพัฒนาในระยะแรกเป็นเช่นเดียวกับภาษาดราวิเดียนอื่น ๆ และเป็นอิสระจากภาษาสันสกฤต ในยุคต่อมาจึงได้อิทธิพลทางด้านคำศัพท์และวรรณคดีจากภาษาสันสกฤตเช่นเดียวกับภาษาเตลุกุ ภาษามลยาฬัม และอื่น ๆ

จารึกภาษากันนาดาพบครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อราว พ.ศ. 313 ศิลาจารึกภาษากันนาดาที่สมบูรณ์ชิ้นแรกคือ ศิลาศาสนะ เขียนด้วยภาษากันนาดาโบราณ รวมทั้งจารึกหัลมิที, อายุราว พ.ศ. 93 จารึกภาษากันนาดาพบในอินเดียราว 40,000 ชิ้น และพบนอกรัฐกรณาฏกะด้วย เช่นที่ รัฐอานธรประเทศ รัฐมหาราษฏระ รัฐทมิฬนาดู รวมทั้งในรัฐมัธยประเทศและรัฐอุตตรประเทศด้วย

ประเทศ